ระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงอัตโนมัติ (Automatic Sprinkler System) เป็นระบบดับเพลิงที่ได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพในการควบคุมเพลิงไหม้ได้ดีมาก
และปัจจุบันมีการติดตั้งใช้กันแพร่หลายทั่วโลก
เพราะสามารถควบคุมเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นได้ทันทีขณะที่เพลิงยังมีขนาดเล็ก
ทำให้เพลิงไหม้หยุดการขยายตัวลุกลาม
การเกิดควันไฟก็น้อยลงและเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นอยู่ในพื้นที่จำกัด
ระบบนี้จะทำให้คนในอาคารมีเวลาเพิ่มมากขึ้นในการอพยพหนีไฟ
ซึ่งหมายถึงชีวิตผู้ใช้อาคารจะมีความปลอดภัยจากอัคคีภัยมากขึ้นตามไปด้วย
ประเภทของระบบหัวจ่ายน้ำดับเพลิงอัตโนมัติ
(Type of Automatic Sprinkler System)
1. ระบบท่อเปียก (Wet
Pipe System) ระบบนี้เหมาะสมที่จะใช้งานกับพื้นที่ป้องกันเพลิงไหม้ที่อุณหภูมิแวดล้อม
(Ambient Temperature) ไม่ทำให้น้ำในเส้นท่อเกิดการแข็งตัว
น้ำจากหัวกระจายน้ำดับเพลิงจะฉีดออกมาดับเพลิงทันทีที่เกิดเพลิงไหม้
2. ระบบท่อแห้ง (Dry
Pipe System) ระบบนี้เหมาะสมที่จะใช้งานสำหรับพื้นที่ป้องกันที่มีอุณหภูมิโดยทั่วไปต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง
ซึ่งทำให้เกิดการแข็งตัวของน้ำในเส้นท่อได้
โดยในระบบท่อจะมีการอัดอากาศเข้าภายในแทนน้ำ เหมาะสำหรับประเทศที่มีภูมิอากาศหนาวจัด
3. ระบบท่อแห้งแบบชะลอน้ำเข้า
(Pre Action System) ระบบนี้เหมาะสำหรับพื้นที่ป้องกันที่ต้องการหลีกเลี่ยง
การทำงานหัวกระจายน้ำดับเพลิงที่อาจผิดพลาด
และก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินหรืออุปกรณ์ที่มีมูลค่าสูง เช่น
ห้องคอมพิวเตอร์ ฯลฯ
4. ระบบเปิด (Deluge
System) ระบบนี้เหมาะสำหรับพื้นที่ป้องกันอัคคีภัยพิเศษ
ที่ต้องการน้ำดับเพลิงในปริมาณมากออกจากหัวกระจายน้ำดับเพลิงแบบเปิด (Open
Sprinkler) พร้อมกันทุกหัวซึ่งประเภทของระบบที่ใช้ที่จะกล่าวถึงในครั้งนี้
คือ ระบบท่อเปียกเนื่องจากเป็นระบบที่มีความนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย
ในการออกแบบและติดตั้งระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิง
สำหรับอาคารใดๆ
จะต้องพิจารณาถึงระบบส่งน้ำดับเพลิงที่น่าเชื่อถืออย่างน้อยหนึ่งระบบ
ซึ่งจะต้องสามารถส่งน้ำดับเพลิงในปริมาณและความดันเพียงพอสำหรับดับเพลิงที่เกิดขึ้น
ระบบส่งน้ำดับเพลิงที่สามารถนำมาพิจารณาเลือกใช้สำหรับการดับเพลิง เช่น
เครื่องสูบน้ำดับเพลิงชนิดทำงานอัตโนมัติต่อกับแหล่งน้ำดับเพลิงถังเก็บน้ำสูง
ถังน้ำความดันหรือท่อเมนสาธารณะที่มีความดันและปริมาณการไหลเพียงพอตลอดปี
การหาปริมาณน้ำเพื่อใช้ในการดับเพลิงของระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิง
จะต้องนำพื้นที่ครอบครองของอาคารมาพิจารณาด้วยเสมอ
ซึ่งการแบ่งแยกว่าเป็นพื้นที่ครอบครองประเภทใด
จะขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงว่ามีอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ
จำนวนมากน้อยเพียงใด ดังนั้นการแบ่งประเภทของพื้นที่ครอบครองสำหรับอาคารแบ่งได้เป็น
3 ประเภทดังนี้
1. พื้นที่ครอบครองอันตรายน้อย
(Light Hazard Occupancies) หมายถึง
สถานที่ที่มีปริมาณเชื้อเพลิงและความสามารถในการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงต่ำ เช่น
ที่พักอาศัย สำนักงานสถานศึกษา โรงพยาบาล ฯลฯ
2. พื้นที่ครอบครองอันตรายปานกลาง
(Ordinary Hazard Occupancies)
2.1
พื้นที่ครอบครองอันตรายปานกลางกลุ่มที่ 1 (Ordinary Hazard Group 1) หมายถึงสถานที่ที่มีเชื้อเพลิงที่มีความสามารถในการเผาไหม้ต่ำ
ปริมาณของเชื้อเพลิงปานกลาง กองของวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงได้มีความสูงไม่เกิน 8 ฟุต เช่นโรงงานผลิตอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ โรงงานผลิตอาหารกระป๋อง ฯลฯ
2.2
พื้นที่ครอบครองอันตรายปานกลางกลุ่มที่ 2 (Ordinary Hazard Group 2) หมายถึงสถานที่ที่มีปริมาณเชื้อเพลิงและความสามารถในการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงปานกลางถึงสูง
กองของวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงได้มีความสูงไม่เกิน 12 ฟุต
เช่น โรงงานผลิตสิ่งทอโรงงานกระดาษและผลิตเยื่อกระดาษ ฯลฯ
3. พื้นที่ครอบครองอันตรายมาก
(Extra Hazard Occupancies)
3.1
พื้นที่ครอบครองอันตรายมากกลุ่มที่ 1 (Extra Hazard Group 1) หมายถึงสถานที่ที่มีปริมาณเชื้อเพลิงและความสามารถในการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงสูงมาก
มีฝุ่น หรือสารที่ทำให้เกิดการลุกติดของไฟ
หรือวัสดุอื่นที่สามารถจะทำให้เกิดการลุกไหม้ได้อย่างรวดเร็วแต่ไม่มีสารไวไฟและสารติดไฟเช่นโรงงานผลิตไม้อัดและไม้แผ่น
อุตสาหกรรมยาง ฯลฯ
3.2
พื้นที่ครอบครองอันตรายมากกลุ่มที่ 2 (Extra Hazard Group 2) หมายถึงสถานที่ที่มีปริมาณของสารไวไฟและสารติดไฟปานกลางถึงมากหรือสถานที่เก็บสารมีขนาดใหญ่
พื้นที่กลุ่มนี้จะมีลักษณะการใช้งานที่เกี่ยวข้องกับของเหลวติดไฟ (Combustible
Liquid) หรือของเหลวไวไฟ (Flammable Liquid) โดยตรง
เช่น โรงพ่นสี โรงกลั่นน้ำมัน ฯลฯ
จากการกำหนดพื้นที่ครอบครองหาปริมาณและความดันของน้ำดับเพลิงที่ต้องการ
เพื่อดับเพลิงที่เกิดขึ้นจะต้องพิจารณาถึง
พื้นที่เท่าใดที่หัวกระจายน้ำดับเพลิงทำงานจริงหรือจำนวนเท่าใดที่หัวกระจายน้ำดับเพลิงถูกคาดการณ์ว่าจะแตกมากที่สุดและสามารถดับเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นได้
จากสถิติการเกิดอัคคีภัยในอาคารทั่วไป สามารถสรุปได้ว่าสำหรับอาคารที่ติดตั้งระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิง
ร้อยละ 94 ของอาคารเหล่านั้นสามารถควบคุมไฟไว้ได้
ด้วยหัวกระจายน้ำดับเพลิงที่แตกและส่งน้ำดับเพลิงออกมาจำนวน 25 หัว หรือน้อยกว่านั้นเพียงอย่างเดียวขนาดของพื้นที่ป้องกัน (Protection
Area Limitations) ขนาดของพื้นที่ป้องกันสูงสุดสำหรับแต่ละพื้นที่
หรือแต่ละชั้นต่อระบบท่อเมนแนวดิ่ง (System Riser) หรือระบบท่อเมนร่วมแนวดิ่ง
(Combined System Riser) ใดๆ
อ้างอิง : http://dpm.nida.ac.th/main/index.php/articles/fire/item/149-%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น